Last updated: 28 เม.ย 2565 | 603 จำนวนผู้เข้าชม |
ตลอดช่วงบ่ายวันนี้ ที่ ห้องประชุม อบต.บ้านเสด็จ ตำบลบ้านเสด็จ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ว่าที่ร้อยตรีอรุณศักดิ์ ปัญญายืน นายก อบต.บ้านเสด็จ พร้อมคณะผู้บริหาร ได้ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตร อาทิ เกษตรจังหวัด , เกษตรและสหกรณ์จังหวัดลำปาง ,สภาเกษตรกรจังหวัดลำปาง , สหกรณ์จังหวัด , พาณิชย์จังหวัด และ ภาคเอกชน รวมถึง บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด เข้าร่วมประชุมรับฟังข้อมูลจากเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดในพื้นที่ตำบลบ้านเสด็จ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดลำปาง เฉพาะพื้นที่ตำบลบ้านเสด็จ 17 หมู่บ้าน ในฤดูกาลปี 2565 คือในเดือน พ.ค.-ก.ค. จะมีผลผลิตที่ออกสู่ตลาดประมาณ 24,718 ตัน รวมทั้งจังหวัดจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 46,000 ตัน ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 20-30% แต่ยังน้อยกว่าช่วงปี 2560 ที่สับปะรดลำปางเกิดปัญหาล้นตลาดมากที่สุดคือเกือบ 60,000 ตัน
ซึ่งเกษตรกรบางส่วนเชื่อว่าจะยังสามารถจำหน่ายได้ เพราะได้หันมาหยอดแปลงให้ผลผลิตออกนอกฤดูกาลไปบางส่วนแล้ว ทำให้ในเดือน พ.ค.-ก.ค.ที่สับปะรดจะออกมากที่สุดทั่วประเทศ ก็จะเหลือไม่มาก ขณะนี้เกษตรกรรายใหญ่และเป็นล้งรับซื้อสับปะรดในพื้นที่ก็ยืนยันว่าปีนี้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น 20-30% นั้นไม่น่าจะมีปัญหา
ส่วนเกษตรกรบางท่านก็ให้ข้อมูลว่าในปีนี้ฝนตกแม้จะมีผลผลิตต่อหัวไม่เพิ่มมากนักแต่ปริมาณน้ำหนักต่อหัวเพิ่มขึ้น ซึ่งหากผลผลิตออกพร้อมกันการรับซื้อของโรงงานอาจจะมีปัญหาเพราะต้องรับซื้อในพื้นที่โรงงานก่อน ส่วนเกษตรกรนอกพื้นที่หากนำไปขายก็อาจจะต้องรอคิวและอาจจะทำให้สับปะรดเสียหายได้หากรอเป็นเวลานาน ซึ่งการวางแผนเตรียมแก้ปัญหาไว้ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี
ทางด้านหน่วยงานได้ให้ข้อมูลว่าด้วยจากการติดตามสถานการณ์ย้อนหลัง 10 ปี ปีนี้ยังถือว่าไม่วิกฤตเท่ากับปี2560 วึ่งในปีนั้นคาดการว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากถึง 60,000 ตัน แต่ปีนี้ประมาณ 46,000 ตัน คาดว่าหากมีการวางแผนดีก็จะไม่มีปัญหา ซึ่งทางหน่วยงานราชการต้องเตรียมแผนรองรับไว้ล่วงหน้า เพราะทางพื้นที่ ที่ตั้งโรงงานได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการส่งไปต่างประเทศที่ยังมีปัญหาอยู่โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกกลางที่มีสงคราม ซึ่งหากถึงเวลาผลผลิตออกมากแต่โรงงานรับซื้อน้อยก็จะยังมีทางเลือกที่ช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกรได้ แต่หากทุกอย่างเป็นไปตามกลไกลตลาดเกษตรกรสามารถจำหน่ายสับปะรดได้โดยไม่ต้องพึ่งกลไกภาครัฐ แผนที่วางไว้ก็ไม่ได้เสียหายอะไรเพียงแค่ยังไม่ต้องนำออกมาใช้เท่านั้นซึ่งจะดีกว่าหากเกิดปัญหาแล้วไม่มีแผนรองรับหรือแก้ไขได้ทันท่วงที ผลเสียก็จะตกกับเกษตรกร