"กรมชลประทาน" เผยการแก้ปัญหาวิกฤตน้ำท่วมภาคเหนือพร้อมมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 และแผนรับมือในอนาคต-แผนฟื้นฟูหลังน้ำท่วม

Last updated: 3 ต.ค. 2567  |  177 จำนวนผู้เข้าชม  | 

"กรมชลประทาน" เผยการแก้ปัญหาวิกฤตน้ำท่วมภาคเหนือพร้อมมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 และแผนรับมือในอนาคต-แผนฟื้นฟูหลังน้ำท่วม

จากเหตุการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือที่ผ่านมา ทำให้หลายภาคส่วนร่วมกันตระหนักถึงปัญหาอุทกภัย ซึ่งดูเหมือนจะรุนแรงมากขึ้นกว่าทุกปี ทางด้าน “กรมชลประทาน” ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลบริหารจัดการน้ำในประเทศให้มีประสิทธิภาพ นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน เผยถึงการรับมือป้องกันน้ำท่วมในอนาคต อีกทั้งยังมีมาตรการรับมือฤดูฝนในปี 2567 รวมถึงแผนฟื้นฟูหลังน้ำท่วม ครั้งนี้ว่า

“ต้องบอกก่อนว่าปีนี้ภาคเหนือมีฝนตกตั้งแต่สิงหาคมที่ผ่านมา จะเห็นว่าฝนตกที่น่านหนึ่งรอบ แต่ปริมาณน้ำทั้งหมดไหลลงเขื่อนสิริกิติ์ แต่พอฝนตกที่พะเยาและที่แพร่ในลุ่มน้ำยมไหลลงสู่ตัวเมืองสุโขทัย พื้นที่เศรษฐกิจถึงแม้ไม่ได้รับผลกระทบ แต่พื้นที่ด้านข้างมีน้ำเป็นจำนวนมากท่วมคันกั้นน้ำ และพื้นที่เกษตร ตรงนี้ถือเป็นอุทกภัยประจำลุ่มน้ำยม เรียกได้ว่าท่วมซ้ำซาก และมีปริมาณมากกว่าปีก่อนๆ ส่วนน้ำท่วมที่เกิดขึ้นจากแม่น้ำระหว่างประเทศ แม่น้ำแม่สายต้นน้ำมาจากพม่าไหลมาสู่เชียงราย ซึ่งตอนนี้น้ำต่ำกว่าตลิ่งแล้ว อยู่ในหมวดของการฟื้นฟู ส่วนที่สองเป็นส่วนของลำน้ำกกที่ท่วมเชียงราย มาจากพม่า เกิดฝนตกหนักที่อำเภอแม่ออน เชียงใหม่ น้ำล้นตลิ่งที่แม่ออน น้ำตรงนี้ไหลมาสู่แม่น้ำกก และมายังเมืองเชียงราย ทำให้น้ำล้นตลิ่ง ประกอบกับฝนตกในพื้นที่ด้วย ทำให้น้ำท่วมจากเชียงรายมีปริมาณมาก ในส่วนของพื้นที่ชายขอบของประเทศ น้ำแม่สาย และน้ำโขงลดแล้ว สามารถระบายน้ำลงแม่น้ำโขงได้ดีขึ้น และปริมาณน้ำที่ท่วมมีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งที่เชียงราย การเข้าไปดำเนินการ เนื่องจากบริเวณนั้นไม่มีอาคารบังคับน้ำต่างๆ ส่วนที่จะช่วยได้คือส่วนที่จะทำคันกั้นน้ำ เร่งระบายน้ำลงแม่น้ำ รวมถึงมีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ ในส่วนของแม่น้ำปิง ได้มีการติดตั้งเพื่อให้น้ำเร่งระบาย ได้เร็วขึ้น”

ในการรับมืออุทกภัย กรมชลประทาน มีการวางแผนดำเนินงานดังนี้ “ในการรับมืออุทกภัยที่ผ่านมา รวมถึงแผนการเตรียมตัวรับมือในฤดูฝนก่อนเกิดน้ำท่วม เราติดตามข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล เมื่อทราบข้อมูลก็เอามาใช้บริหารจัดการน้ำ กักเก็บน้ำ นั่นคือถ้าฝนตกเหนือเขื่อน จะกักเก็บน้ำในเขื่อนให้ตามเกณฑ์ของเขื่อน แต่ถ้าเกิดฝนตกท้ายเขื่อนขึ้นมา ต้องใช้การคาดการณ์ว่าจะเกิดผลกระทบตรงไหนอย่างไร ในเรื่องของภาพใหญ่ จะมีวิเคราะห์จุดเสี่ยงก่อน ในลำดับถัดไปคือการคาดการณ์น้ำล่วงหน้าให้ประชาชนได้เตรียมตัว สิ่งที่ท้าทายคือเรื่องปริมาณ เพราะการกำหนดพื้นที่เสี่ยงค่อนข้างกำหนดได้ชัดเจน แต่ปริมาณการเกิด มักมีความเข้มของฝนมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ตกกระจุกไม่กระจาย หรือ Rain Bomb ซึ่งอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ ในส่วนนี้จะมีเครื่องมือ พวกอาคารชลประทานต่างๆ จะมีการผันน้ำไปเก็บ ผันน้ำไปทางจราจรได้ แต่ส่วนที่ไม่มีเครื่องมือต่างๆ เช่น เชียงราย ในแม่น้ำกก ไม่มีเครื่องมือจะผันน้ำไปทางไหน น้ำทุกหยด ผ่านตัวเมืองเชียงราย ซึ่งตรงนี้ไม่มีเครื่องมือ มีแค่การเฝ้าระวังแจ้งเตือน แต่ในอนาคตต้องหาแนวทางว่า จะมีการสร้างเส้นทางอ้อมจังหวัดได้หรือไม่”



ในเรื่องของข้อมูลข่าวสารที่ต้องแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบ ตอนนี้รัฐบาลได้มีการมอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบ เข้าไปดูทั้งเรื่องการสื่อสาร เรื่องระบบการตรวจวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปบูรณาการร่วมกัน มีการประสานข้อมูล เช่น ไปตั้งเครื่องมือตรวจวัดปริมาณฝนในพม่า ให้มีการแชร์ข้อมูลในระดับภูมิภาค แชร์ข้อมูลทั้งในประเทศ และนอกประเทศ



สำหรับแผนฟื้นฟูทั้งในระยะสั้นและระยะยาว “นายเดช เล็กวิชัย” รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า “สำหรับแผนฟื้นฟูช่วงน้ำลด ทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด มีการจัดตั้งศูนย์ป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ กรมชลประทานเองเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ต้องเข้าไปร่วมกับหน่วยงานอื่น เราเข้าไปบูรณาการทั้งคน และเครื่องมือ ส่วนแผนฟื้นฟูระยะยาวมีเรื่องของการคาดการณ์ในอนาคตที่มีความจำเป็นในหลายๆ ด้าน ที่จะต้องมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม ในลุ่มน้ำไหนไม่มีเขื่อนกักเก็บ น้ำมาไวไปไวก็ควรจะมีที่กักเก็บเพื่อชะลอน้ำตรงนั้นไว้”

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้