กสม.ลงพื้นที่ อ.วังเหนือรับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน3ตำบล533ครัวเรือน เดือดร้อนจากการถูกยึดพื้นที่ทำกินนำไปปลูกป่า ขอให้ป่าไม้ตรวจสอบสิทธิก่อนที่จะยึด พร้อมคืนหากบุกรุกหลังปี 57

Last updated: 19 ก.ค. 2567  |  158 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กสม.ลงพื้นที่ อ.วังเหนือรับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน3ตำบล533ครัวเรือน เดือดร้อนจากการถูกยึดพื้นที่ทำกินนำไปปลูกป่า ขอให้ป่าไม้ตรวจสอบสิทธิก่อนที่จะยึด พร้อมคืนหากบุกรุกหลังปี 57

 

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)ลงพื้นที่รับฟังปัญหาชาวบ้าน3ตำบลในอำเภอวังเหนือ หลังถูกป่าไม้ยึดที่ทำกินรวมกว่า 8,000 ไร่ เพื่อนำไปปปลูกป่า โดยชาวบ้านระบุว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ลงพื้นที่สอบสิทธิก่อนที่จะยึดพื้นที่นำไปปลูกต้นไม้ตามนโยบายรัฐบาล ทำให้ชาวบ้าน533 ครัวเรือนใน3ตำบลเดือดร้อนไร้ที่ทำกิน ขณะที่เจ้าหน้าที่ยืนยันลงทำประชามติและชาวบ้านเห็นชอบ 


วันนี้ ที่ ศาลาอเนกประสงค์ตำบลร่องเคาะ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยนางสาวสุภัทรา นาคะผิว พร้อมเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่รับฟังปัญหาข้อขัดแย้งของชาวบ้านและป่าไม้ จากกรณีชาวบ้าน3ตำบลร้องเรียนถูกป่าไม้ยึดพื้นที่ทำกินกว่า 8,000 ไร่ นำไปปลูกป่าตามนโยบายของรัฐบาล  โดยไม่สอบสิทธิตามขั้นตอน ทำให้ชาวบ้าน 533 ครัวเรือนได้รับผลกระทบและเดือดร้อน ไร้ที่ทำกิน จนกลายเป็นหนี้สินไม่สามารถคืนเงินกู้กับธนาคารได้เพราะไม่มีที่ดินทำกิน

โดยมีนายอำเภอวังเหนือ นางวณิชดา ไชยศิริ  นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดลำปาง เข้าร่วมรับฟังข้อมูล  ซึ่งมีผู้นำหมู่บ้าน ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบกว่า 200 คน ร่วมให้ข้อมูลในฝ่ายของชาวบ้าน และ นายสุรชัย แสงศิริ ผอ.สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ให้ข้อมูลในฝ่ายของเจ้าหน้าที่ที่ถูกร้องเรียน


ซึ่งการรับฟังข้อมูลแยกเป็นสองช่วงเพื่อไม่ให้เกิดการปะทบคารมกันของทั้ง2ฝ่าย เนื่องจากก่อนเปิดเวทีรับฟัง ชาวบ้านต้องการให้ จนท.ป่าไม้ชี้แจงกับชาวบ้านว่าทำไมก่อนยึดที่ดินจึงไม่สอบสิทธิก่อน ส่วน จนท.ป่าไม้ได้นำกำลังแต่งชุดเครื่องแบบมาครบทีมกว่า 20 นาย ทำให้บรรยากาศเริ่มตึงเครียด เพื่อลดบรรยากาศดังกล่าวจึงได้แยก จนท.ป่าไม้ออกจากเวทีรับฟังข้อมูลของชาวบ้านก่อน

โดยช่วงแรกได้เป็นการรับฟังข้อมูลจากฝ่ายชาวบ้าน ซึ่งมีผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้มายึดที่ทำกินของชาวบ้านใน3ตำบล ของอำเภอวังเหนือ ประกอบด้วย ต.วังทอง 6 หมู่บ้าน รวม 350 ครัวเรือน 5,699 ไร่  , ตำบลร่องเคาะ 2 หมู่บ้าน 93 ครัวเรือน 1,208 ไร่ , ตำบลวังทรายคำ 4 หมู่บ้าน 90 ครัวเรือน 1,228 ไร่ รวม ทั้งสิ้น 533 ครัวเรือน กว่า 8,000 ไร่ โดยไม่มีการตรวจสอบสิทธิก่อนที่จะเข้าตรวจยึดพื้นที่เพื่อนำไปปลูกป่าตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งตามขั้นตอนชาวบ้านยอมรับปได้ หากเจ้าหน้าที่ปฎิบัติตาม ครม.เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2541 ที่ให้ผู้ที่ทำกินในพื้นที่ก่อนแ 2545 ให้ จนท.อนุญาตให้อาศัยทำกินต่อไปได้ ซึ่งในส่วนนี้ก็อยากให้ภาครัฐออกเอกสารรับรองสิทธิเพื่อให้ชาวบ้านได้ทำกินอย่างถูกกฎหมาย  ส่วนคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 และที่ 66/2557 หากใครที่อยู่ระหว่างปี 2545-2557 ก็ให้ตรวจสอบสิทธิแต่ต้องดูฐานะของชาวบ้านด้วย ส่วนผู้ที่เข้าทำกินหลังปี 2557 ชาวบ้านยินดีคืนที่ให้ แต่ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ไม่ปฎิบัติตามที่ตกลงไว้กับชาวบ้านซึ่งขณะนี้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเพราะไร้ที่ทำมาหากิน จนกลายเป็นหนี้สินเพราะขาดรายได้ที่จะส่งเงินกู้ยืมกับทางธนาคาร


หลังจากรับฟังข้อมูลจากฝั่งชาวบ้านแล้ว ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพร้อมคณะ ได้เชิญ จนท.ทสจ.และ จนท.ป่าไม้ ให้ข้อมูลในห้องประชุม ซึ่งทาง จนท.ได้ชี้แจงว่าที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านแล้ว และได้ประชุมทำประชามติชาวบ้านทั้งหมดก่อนที่จะทำโครงการปลูกป่า และได้ยอมลดเงื่อนไขในการปลูกป่าลงเพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวบ้านเพื่อให้มีพื้นที่ทำการเกษตร แต่เมื่อนำต้นไม้ตามความต้องการของชาวบ้านลงไปให้ปลูกปรากฎว่าต้นไม้หาย และ ตาย สุดท้ายคือ จนท.ไม่สามารถเข้าไปปลูกป่าได้เพราะชาวบ้านไม่ยินยอม และก็ใกล้จะถึงเวลาที่จะต้องใช้งบประมาณตามโครงการฯ การบำรุงฟื้นฟูพื้นที่ก็ยังเขาพื้นที่ไม่ได้ ซึ่ง จนท.ได้ยอมถอยให้ชาวบ้านมากที่สุดแล้ว และที่ผ่านมามีบางส่วนในพื้นที่ที่ถูกยึดคืน จนท.ไม่ได้ระบุบุคคลที่บุกรุก แต่ หากชาวบ้านยังไม่ยินยอมให้เข้าพื้นที่ ทาง จนท.ก็อาจจะต้องส่งรายชื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินคดีและให้ชาวบ้านไปเรียกร้องสิทธิในชั้นศาลเอง



ทางคณะกรรมการสิทธิฯ ได้รับฟังข้อมูลทั้งสองฝ่าย พร้อมระบุว่า กสม.ทำได้มากกว่ากฎหมายที่มีอยู่ และหลายครั้งที่ กสม.ตรวจสอบจากการร้องเรียนของชาวบ้านพบว่า บางครั้งการออกนโยบายของฝ่ายบริหารก็ละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ ไม่ใช่ว่ากฎหมายจะถูกต้องเสมอไป และหลายครั้งกฎหมายและนโยบายชอบด้วยหลักสิทธิมนุษยชน แต่การปฎิบัติของ จนท.ตามนโยบายและกฎหมายนั้นอาจจะไม่ถูกต้องตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดเอาไว้ คือ กฎหมายถูกต้องแต่การปฎิบัติไม่ถูกต้อ งดังนั้นการตรวจสอบจึงต้องรับฟังทั้งสองฝ่ายอย่างรอบด้านและแสวงหาข้อเท็จจริงให้ได้มากที่สุดทั้งฝ่ายผู้ร้องและฝ่ายที่ถูกร้อง ส่วนกรณีที่ชาวบ้านถูกจับดำเนินคดีและถูกจับติดคุกทั้งๆที่ต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิในที่ทำกินของตัวเองมันไม่เป็นธรรมและไม่มีประโยชน์อะไร ซึ่งตอนนี้ กสม.ได้ทำกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายเหล่านี้ เพราะชาวบ้านไม่ใช่อาชญากร และหาก ชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดีก็อาจจะสามารถใช้ร่างกฎหมายตัวนี้ในการชะลอการดำเนินคดีไว้ก่อนได้

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้