Last updated: 27 ก.พ. 2563 | 518 จำนวนผู้เข้าชม |
หลังจากจังหวัดลำปาง โดยผู้ว่าราชการจังหวัด นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการลดปัญหาหมอกควัน หรือ 3 ลดในปี 2563 ได้แก่ 1.ลดปัญหาสุขภาพระบบทางเดินหายใจให้เหลือร้อยละ 70 2.ลดจุดความร้อนสะสมหรือฮอตสปอทให้เหลือร้อยละ 50 และ 3.ลดการเผาในชุมชนทั้งในครัวเรือนและพื้นที่ทางการเกษตร
วันนี้ ที่บริเวณถนนทางเข้าอ่างเก็บน้ำศูนย์ราชการจังหวัดลำปางแห่งที่3 นายสุรพล บุรินทราพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำาง ได้เป็นประธานเปิดกิจกรรมโครงการ อาสาอนุรักษ์ป่าพระยาแช่ สดใสไร้หมอกควัน โดยมี น.ส.ศิริพร ปัญญาเสน หน่วยจัดการจังหวัดลำปาง สสส.กล่าวรายงาน การสร้างความร่วมมือชุมชน เพื่ออนุรักษ์ป่าพระยาแช่ และนายเสถียรพงศ์ เครืออิ่นแก้ว ผญบ.ม.7 บ้านไร่พัฒนา ต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง บรรยายสรุปการแก้ไขปัญหาหมอกควันจากแผนที่ทำมือ โดยมีภาคีเครือข่ายในแต่ละหมู่บ้าน ชุมชน อำเภอ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรม
น.ส.ศิริพร ปัญญาเสน หัวหน้าหน่วยจัดการระดับจังหวัดขับเคลื่อนประเด็นยุทธศาสตร์จังหวัดลำปาง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รายงานว่า ปัญหาหมอกควันถือเป็นปัญหาลำดับต้นๆ ของ จ.ลำปาง และเป็นยุทธศาสตร์หลักของทาง จ.ลำปางที่ต้องดำเนินการแก้ไข ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่จ.ลำปาง ขับเคลื่อนอยู่ในการร่วมรณรงค์ลดการเผาในชุมชนและพื้นที่ทางการเกษตร ดังนั้นการทำงานจึงเป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ได้มีการสนับสนุนประเด็นการจัดการทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2562 ใน 40 โครงการ ซึ่งการทำงานจะมุ่งเน้นการทำงานในพื้นที่ของผู้รับทุน ในปี 2563 ได้สนับสนุนพื้นที่รับทุนเหลือเพียง 25 โครงการ แต่จะเป็นการทำงานในวงกว้างมากขึ้น โดยจะเป็นการขยายขอบเขตพื้นที่การทำงานจากพื้นที่ขนาดเล็กให้ครอบคลุมพื้นที่ป่าทั้งชุมชน โดยเฉพาะรอบดอยพระบาท หรืออุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต ซึ่งเป็นป่ากลางเมือง และจะพัฒนาขยายผลการจัดการให้ครอบคลุมทั้ง 36 ชุมชนโดยรอบ ซึ่งจะทำให้ปัญหาหมอกควันได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ และคืนอากาศบริสุทธ์และเป็นแหล่งอาหารที่มั่นคงให้ชาวเมืองลำปาง
ขณะที่ นายเสถียรพงศ์ เครืออิ่นแก้ว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 บ้านไร่พัฒนา ต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง รายงานว่า ไฟป่าที่เกิดขึ้นในแต่ละปี ได้สร้างผลกระทบทางสุขภาพให้กับชาวบ้านมาก โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ หน่วยงานราชการก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะผืนป่าของหมู่บ้านอยู่ห่างจากศูนย์ราชการเพียง 3 ก.ม. และห่างจากตัวเมืองไม่เกิน 5 ก.ม. ซึ่งอาจะเรียกได้ว่าเป็นป่ากลางเมืองก็ว่าได้ ยังไม่รวมถึงความเสียหายต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจที่ซบเซายามเกิดเหตุกินเวลาหลายเดือน
แม้จะมีกิจกรรมรณรงค์รักษาป่ากันทุกปี ช่วยกันปลูกต้นไม้ บวชป่า ทำฝายชะลอน้ำ รณรงค์ห้ามเผา พอที่จะได้ผลบ้าง แต่ไม่ครอบคลุมผืนป่าทั้งหมด เพราะดอยพระบาทมีชุมชนที่อาศัยโดยรอบมากถึง 36 ชุมชน ประกาศเขตป่าชุมชนไปแล้ว 20 ชุมชน และอีก 10 ชุมชนยังไม่ได้ประกาศเขตป่าชุมชน เช่นเดียวกับป่ามีขนาดกว้างใหญ่เข้าออกได้หลายทาง มีคนเข้ามาใช้ประโยชน์หลากหลายทั้งจากคนในและคนนอกพื้นที่ การหยุดหมอกควัน ไฟป่า จึงไม่ประสบผลสำเร็จ ขณะที่แต่ละหมู่บ้านแต่ละหน่วยงานไม่เคยมาคุยกัน ต่างคนต่างทำ แผนจัดการไม่เป็นในทิศทางเดียวกัน การแก้ปัญหาจึงเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ
หลังประธานกล่าวเปิดแล้ว ทุกภาคส่วนและภาคประชาชนจิตอาสา ได้ร่วมกันทำพิธีเปิดด่านหน่วยระวังไฟป่าพระยาแช่ภาคประชาชน ของชุมชนหมู่ที่7บ้านไร่พัฒนา ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง โดยยืนยันว่าหมู่ที่7 ตำบลพิชัยจะไม่เผาป่า
จากนั้นได้ร่วมกันทำแนวกันไฟโดยรอบพื้นที่ และร่วมกันฟื้นฟูฝายชะลอน้ำ เยี่ยมชมพื้นที่เฝ้าระวัง และช่วงบ่ายได้มีการจัดเสวนาความร่วมมือระหว่างภาคประชาชนและภาครัฐแก้ปัญหาป่าพญาแช่อย่างยั่งยืน โดยการศึกษาต้นแบบการจัดการหมอกควันไฟป่าด้วยวิธีป่าเปียก โดยทีมงานเครือข่ายป่าเปียกลำปาง และสุดท้ายได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่าง MOU ระหว่าง สสส. และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและ15ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการในปี 2563 นี้