Last updated: 11 มิ.ย. 2566 | 11690 จำนวนผู้เข้าชม |
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี พระราชทานผ้าไตร ห่มผ้าพระพุทธปฎิมาไสยาสน์ ปางปรินิพพาน ซึ่งองค์ยาวที่สุดในล้านนา 49.89 เมตร เนื่องในวันอัฐมีบูชา ประจำปี 2566
เมื่อเวลา 14.09 น. บริเวณด้านหน้าวัดสุทธิจิตตาราม หรือ วัดวังฆ้อง ต.บ้านขอ อ.เมืองปาน จ.ลำปาง ข้าราชการ ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น ประชาชน ได้ตั้งขบวนแห่ผ้าไตรพระราชทาน พร้อมตุงสี และ ขบวนแห่ช่างฟ้อนของชาวบ้านจากหมู่บ้านต่างๆที่พร้อมใจกันแต่งกายนางรำฟ้อนร่วมขบวนกันอย่างสวยงาม เดินมาตามถนนจนถึงบริเวณมณฑลพิธี ด้านหน้าองค์พระพุทธปฎิมาไสยาสน์ ปางปรินิพพาน
จากนั้นเวลา 14.59 น. ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ประธานในพิธี ได้จุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย เปิดกรวยดอกไม้ธูปเทียนแพและถวายบังคมพระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี
ประธานในพิธีอัญเชิญผ้าไตรพระราชทานถวายแด่ พระเดชพระคุณพระราชปัญญาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดนางชี แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร รักษาการเจ้าอาวาสวัดวัดสุทธิจิตตาราม รองเจ้าคณะภาค 6 ประธานฝ่ายสงฆ์ เนื่องในวันอัฐมีบูชา ประจำปี 2566 แขกผู้มีเกียรติจำนวน 45 ท่าน ได้ถวายผ้าไตรโดยเสด็จพระราชกุศล จำนวน 45 ไตร แด่พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ นายอำเภอเมืองปาน อ่านหมายรับสั่ง
ประธานในพิธี ได้จุดไฟหน้าองค์พระนอนถวายเป็นพุทธบูชา และร่วมกันน้ำขมิ้นส้มป่อยสรงน้ำและห่มผ้าพระพุทธปฎิมาไสยาสน์ ปางปรินิพพาน ซึ่งถือเป็นครั้งแรก หลังจากที่ก่อสร้างพระพุทธปฎิมาไสยาสน์ ปางปรินิพพาน สำเร็จ
สำหรับองค์พระพุทธปฎิมาไสยาสน์ ปางปรินิพพาน ที่สร้างขึ้นนี้ นอกจากจะยาวที่สุดในแผ่นดินล้านนาคือ 49.89 เมตร แล้ว ยังมีความพิเศษ คือ จะมีอุโมงค์ในองค์พระนอนบริเวณหัวใจจะมีองค์พระธาตุดินซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในโลกอยู่ ประชาชนสามารถลอดใต้ฐานพระนอน เข้าไปกราบสักการะ ขอโชคลาภได้ เพราะบางคนก็เชื่อว่าสามารถสะเดาะเคราะห์ทำให้ชีวิตดีขึ้นได้ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่งาดำเนินการให้แล้วเสร็จ
สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้เพื่อเป็นการยกย่อง เชิดชู พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระกรุณาคุณ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อพุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสกราบพุทธปฏิมาไสยาสน์ ปางปรินิพพาน อันเป็นต้นแบบมาจากประเทศอินเดีย และ เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดลำปางต่อไป