Last updated: 4 ธ.ค. 2565 | 996 จำนวนผู้เข้าชม |
เช้าวันนี้ จังหวัดลำปาง ร่วม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดลำปาง ได้ร่วมกันจัดขบวนอัญเชิญพระบรมรูป เจ้าอนันตยศ เจ้าผู้ครองนครลำปาง ปฐมกษัตริย์แผ่นดินล้านนา พร้อมด้วยขบวนช้าง ม้า ขุนศึกนักรบ ฯ ร่วมในขบวนแห่จากห้าแยกหอนาฬิกามาตามถนนบุญวาทย์ จนถึง มณฑลพิธี ณ มิวเซียมลำปาง ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน "งานหลวงเวียงละกอน ตามรอยศาสตราวุธ ขุนศึกเมืองลำปาง" ครั้งที่2 ซึ่งงานจะมีไปถึงวันที่ 6 ธ.ค.นี้
โดยเมื่อขบวนแห่มาถึงบริเวณมณฑลพิธี ได้ทำพิธีวางพานพุ่ม สักการะ นำโดย ช้างจำนวน 3 เชือก ได้ขึ้นมาบริเวณลานพิธี นั่งคุกเข้าหมอบกราบหน้าพระบรมรูปเจ้าอนันตยศ เพื่อเป็นการทำความเคารพ เจ้าผู้ครองนครลำปาง จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้นำผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆวางพานพุ่มหน้าสักการะ และ เริ่มพิธีบวงสรวงแบบพิธีพราหมณ์ เพื่อรำลึกถึงประวัติการสร้างเมือง 1,206 ถึงปัจจุบัน ยาวนานกว่า 1,300 ปี และความพรั่งพร้อมทางด้านศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ที่สั่งสมสืบต่อกันมา ถึง 3 ยุค
สำหรับประวัติการสร้างเมืองเขลางค์ หรือ นครลำปาง เริ่มเมื่อ พ.ศ. 1206 พระนางจามเทวี ราชธิดากษัตริย์แห่งกรุงละโว้ เสด็จขึ้นครองนครหริภุญไชยโดยคำกราบบังคมทูลของเหล่าเสนาอำมาตย์ บรรพชิต และเหล่าพสกนิกรชาวหริภุญไชย ซึ่งต้องเดินทางผ่านแม่น้ำสายต่างๆ อาทิ เจ้าพระยา ปิง วัง
จากการใช้เส้นทางนี้เอง จึงทำให้พระนางจามเทวีทอดพระเนตรเห็นเขลางค์นคร ที่แต่เดิมนั้นมิได้ใหญ่โตโอฬารประการใด เป็นเพียงชุมชนหนึ่งที่ดูคึกคักเท่านั้นเอง แต่เมืองเขลางค์อยู่บนชัยภูมิที่เหมาะ มีภูเขาโอบล้อมมีแม่น้ำวังไหลผ่าน มีไร่นามากมายที่ปลูกข้าวได้อย่างมหาศาล
เมื่อพระนางจามเทวีได้เสด็จถึงเมืองหริภุญไชย และขึ้นครองเมืองได้เพียง 7 วัน ก็ทรงประสูติพระโอรสแฝด องค์พี่นามว่า “ท้าวมหันตยศ” องค์น้องนามว่า “ท้าวอนันตยศ” ต่อมาท้าวมหันตยศก็ได้ขึ้นครองเมืองหริภุญไชย และ ท้าวอนันตยศ ก็ได้ไปครองเมืองเขลางค์ เมื่อปี พ.ศ.1223 ซึ่งเมืองเขลางค์ ตั้งอยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำวัง และใช้ชื่อว่า “อาลัมภางคนคร” อันเป็นชื่อที่มาของชื่อ “นครลำปาง” นามเดิมของนครนี้มีหลายนาม เช่น “กุกุตตนคร” หมายถึงเมืองแห่งไก่ อันเกี่ยวกับไก่ขาวมงคลในตำนานเก่าของเมืองจึงปรากฏรูปสัญลักษณ์ไก่ขาวทั่วไปในเมืองนี้ และถือได้ว่าท้าวอนันตยศเป็นปฐมวงศ์ผู้ครองนครเขลางค์ และเปลี่ยนนามเป็นเจ้าอินทรเกิงกร และได้สร้างเมืองเขลางค์ขึ้นใหม่จนเป็นปึกแผ่น โดยใช้รูปผังเมืองเป็นสังข์ปัตตสันฐาน(หอยสังข์) อันเป็นแบบเดียวกับผังเมืองหริภุญไชย และเมื่อสร้างเมืองเขลางค์เสร็จสิ้นลง เจ้าอินทรเกิงกรจึงได้กราบบังคมทูลเชิญพระนางจามเทวีพระราชมารดาให้เสด็จมาเยือนนครเขลางค์
เขลางค์ หรือ อาลัมภางคนคร (ลำปาง) ได้ประสบเหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์อันยาวนานเช่นเดียวกับเมืองเชียงใหม่ และเมืองอื่นๆ ในล้านนา คือมีทั้งช่วงที่เป็นอิสระ ช่วงที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกรุงศรีอยุธยา และช่วงที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพม่า
ต่อมาหนานทิพย์ช้าง เป็นผู้มีสติปัญญาและฝีมือ และประกอบกับมีความกล้าหาญได้รับเป็นผู้นำชาวลำปางทั้งหลาย รวบรวมกำลังกันต่อสู้เพื่อขับไล่พวกพม่า พระมหาเถรเจ้าวัดแก้วชมพู จึงอภิเษกให้เป็น “เจ้าทิพย์ เพทบุญเรือน” เจ้าทิพย์ เทพบุญเรือนคุมคนขับไล่ต่อสู้กับพม่าจนได้รับชัยชนะ ประชาชนทั้งหลายจึงพร้อมใจกันยกเจ้าทิพย์ เทพบุญเรือน ขึ้นปกครองนครลำปาง เฉลิมพระนามใหม่ว่า “พญาสุลวะลือชัยสงคราม” ในพ.ศ. 2275 พญาสุลวะลือชัยสงครามปกครองบ้านเมืองด้วยความร่มเย็นเป็นสุขอยู่ 27 ปี จึงถึงแก่พิราลัยเมื่อพ.ศ. 2302
จากนั้นสายของหนานทิพย์ช้างได้ปกครองเมืองเหนือสืบต่อกันมาหลายองค์ องค์ที่สำคัญ คือ “เจ้ากาวิละ” ที่ได้ร่วมมือกับสมเด็จเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช ต่อสู้กู้อิสรภาพของชาติไทย ร่วมกับสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นพราบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ราชวงศ์จักรี) ทั้งพระขนิษฐาของท่าน คือเจ้าศรีอโนชา ยังได้สมรสกับเจ้าพระยาสุรสีห์ น้องชายของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกอีกด้วย ในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าศรีอโนชามีความดีความชอบได้รับการสถาปนาเป็นมเหสีเอกของกรมพระราชวังบวร พระธิดาของท่านได้รับการสถาปนาเป็น “เจ้าฟ้าหญิงพิกุลทอง กรมขุนศรีสุนทร” ส่วนเจ้ากาวิละนั้นได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้ากาวิละ พระเจ้านครเชียงใหม่ ดังนั้นเชื้อสายของเจ้าหนานทิพย์ช้างจึงเป็นต้นตระกูลของเจ้านายฝ่านเหนือในปัจจุบัน คือ สกุล ณ เชียงใหม่, ณ ลำพูน, ณ ลำปาง, และเชื้อเจ็ดตน ครองเมืองสำคัญต่างๆ ในล้านนาสืบเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน