Last updated: 14 ธ.ค. 2564 | 16957 จำนวนผู้เข้าชม |
วันนี้ผู้สื่ิอข่าวจะขอพาพุทธศาสนิกชนไปชมความสวยงามภายในวัดพระธานดอยน้อย ซึ่งตั้งอยู่ในบ้าน ม.1 นางแตน ต.ท่าผา อ.เกาะคา จ.ลำปาง ห่างจากตัวเมืองลำปางประมาณ 23 กิโลเมตร ซึ่งวัดแห่งนี้ถือเป็นวัดที่เก่าแก่อายุใกล้เคียงกับวัดพระธาตุลำปางหลวง คือในราวปี พ.ศ.2230 โดยครูบาศรีวิชัย แวดล้อมไปด้วยป่าไม้ต้นไม้ขนาดใหญ่
ต่อมาพ.ศ.2460 วัดดอยน้อยก็ได้รับการพัฒนาและบูรณะอีกครั้งจากหลวงปู่ครูบาญาณรังษี สิงห์แก้ว (ศิษย์ของครูบาศรีวิชัย) ด้วยการสร้างถาวรวัตถุเพิ่มขึ้นและท่านก็อยู่จำพรรษาเรื่อยมา
ระหว่างนั้นหลวงปู่ครูบาญาณรังษี สิงห์แก้ว ได้ชักชวนครูบาอภิชัยขาวปี วัดพุทธบาทผาหนาม อ.ลี้ จ.ลำพูน มาช่วยสร้างพระเจดีย์ และได้ทำหนังสือแจ้งทางการไปตามลำดับเพื่อขอให้ตั้งวัดดอยน้อย ขึ้นเป็นวัดโดยสมบูรณ์และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2461 ให้ชื่อว่า"วัดดอยน้อย"
ในปี พ.ศ.2504 ทางวัดดอยน้อยได้รับเมตตาจาก ครูบาศรีวิชัย นำคณะศรัทธาสาธุชนทั่วทั้งหลายมาก่อสร้างพระวิหารขึ้นทางทิศเหนือของพระเจดีย์ แทนวิหารเดิมซึ่งทำจากหญ้าคาผุพัง พร้อมทั้งสร้างพระพุทธรูปรูปปูนปั้นปางมารวิชัยไว้ในพระวิหารโดยเรียกกันว่า"วิหารหลังเปียง" (ไม่มีหลังคา) ซึ่งคาดว่าจะมีเพียงแห่งเดียว โดยสร้างหันหน้าไปทางทิศใต้ ซึ่งถือว่าค่อนข้างแปลกแตกต่างจากวัดอื่นๆ แต่ที่แปลกกว่านั้นก็คือในวิหารหลังนี้ จุดแรกฝั่งขวาของวิหารจะปรากฏเงาพระธาตุให้เห็นถึง 5 เงา จุดที่สองฝั่งซ้ายของวิหารจะปรากฏเห็นเงาพระธาตุใหญ่ 1 เงา และจุดที่สามฝั่งประตูด้านหน้าวิหารจะปรากฏเงาซุ้มประตูด้านหน้า 3 เงา และภายในวัดแห่งนี้จะมีวิหารถึง3หลังที่ถูกสร้างขึ้นในแต่ละสมัยโดยองค์พระประธานที่ประดิษฐานในวิหารแต่ละหลังจะหันพระพักต์ไปคนละทิศไม่เหมือนกัน โดยจะหันไปทางด้านหน้าวิหารตรงกับทางขึ้นวัดซึ่งก็จะมี3เส้นทาง
ขณะที่วิหารหลังองค์พระธาตุ จะมีพระพุทธบาทคู่ดอยน้อย ไว้เพื่อให้พุทธศานิกชนมากราบไหว้ ปิดทองและขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคล และในพระวิหารเก่าด้านหน้าก็จะมีพระพุทธรูปเก่าแก่อีกหลายองค์ซึ่งถือว่ามีคุณค่าและประชาชนให้ความเคารพศรัทธาและจะแวะมากราบไหว้เมื่อมีโอกาส
ปัจจุบัน จร. พระครูบรรพตวรานุศาสน์ (ชรัด อริโย) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยน้อย ได้มีการบูรณะ ปรับปรุง ซ่อมแซม บริเวณภายในวัดหลายอย่าง และบางส่วนซึ่งกำลังก่อสร้างในขณะนี้และยังไม่แล้วเสร็จ คือ ศาลาซึ่งด้านบนมีรูปปั้นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ขนาดความยาว 23 เมตร พุทธศานิกชนที่ไปกราบไหว้สามารถลอดเข้าไปภายในองค์จากบริเวณด้านล่างตรงส่วนพระพักต์ ด้านหน้าไปยังด้านหลังหรือจะเดินผ่านใต้องค์ไปออกยังบริเวณใต้จุดบริเวณฝ่าเท้าได้อีกด้วย
และศาลาหลังนี้ หากใครที่เดินผ่านจะสังเกตุเห็นบริเวณราวบันไดทางขึ้นศาลาซึ่งจะปรากฏรูปปั้นตัวหนอนยักษ์ทาด้วยสีเขียวสลับสีทอง หรือ ที่หลายคนเห็นแล้วก็อาจจะนึกถึง “หนอนชาเขียว” ตัวอ้วนเกาะเฝ้าที่ราวบันไดทั้ง2ข้าง ซึ่งทำให้ผู้ที่พบเห็นสงสัยว่าที่วัดอื่นๆมักจะใช้ตัวมอม หรือพญานาค แต่ที่นี่ทำไมจึงใช้ตัวหนอน
จร. พระครูบรรพตวรานุศาสน์ (ชรัด อริโย) เปิดเผยว่าก่อนหน้านี้อยากทำศาลาและสร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ซึ่งเป็นปางประจำวันเกิดของครูบาศรีวิชัย คือ ปางประจำวันอังคาร แต่ขณะนั้นก็ยังไม่มีเงินเพียงพอจึงได้ตั้งอธิฐานขอ ต่อมาได้มีญาติโยมนำผ้าป่ามาถวายจึงได้เริ่มก่อสร้างจนสามารถสร้างขึ้นมาได้เป็นรูปร่างแต่ก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ส่วนตัวหนอนยักษ์ ที่ปั้นไว้บริเวณหน้าบันได นั้นได้จากประวัติที่ศึกษาซึ่งคนส่วนใหญ่จะไม่เคยรู้มาก่อนว่าบริเวณที่ใต้พระธาตุแห่งนี้เดิมเคยมีถ้ำและมีการเก็บสมบัติไว้และเคยมีคนที่รู้จะเข้ามาเอาแต่ก็มาเจอหนอนยักษ์ที่คอยเฝ้าสมบัติบริเวณหน้าถ้ำ ซึ่งปัจจุบันยังคงเหลือร่องรอยปากถ้ำทั้ง2จุด คือด้านล่างและใต้ฐานกำแพงวิหาร จึงทำให้ปั้นรูปตัวหนอนไว้ที่บริเวณบันได้เพื่อบอกเรื่องราวในอดีต
สำหรับปากถ้ำทั้งสองแห่งที่ยังหลงเหลือให้เห็นนั้น เชื่อกันว่าในสมัยอดีตน่าจะใช้เป็นที่หลบภัยและเก็บสิ่งมีค่าในสมัยสงคราม เนื่องจากบริเวณกำแพงบางจุดยังปรากฎรอยกระสุนปีน และบริเวณปากถ้ำเชื่อกันว่าสามารถเดินทะลุเข้าไปยังใต้ฐานพระธาตุ แต่ขณะนี้ทางวัดได้ปิดปากถ้ำไปแล้วเหลือเพียงปากถ้ำที่ยังปรากฏให้เห็นเป็นตำนานและเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของวัดเท่านั้น
นอกจากนี้ภายในวัดยังมีเวจกุฎี หรือ ห้องส้วมครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่ท่านใช้ครั้งอดีต ซึ่งสภาพยังคงความสมบูรณ์และตั้งไว้ ณ จุดเดิม ให้เห็นด้วย
ท่านที่ต้องการจะร่วมทำบุญเพื่อให้การก่อสร้างศาลาและบูรณะภายในวัดดอยน้อยสามารถร่วมทำบุญได้ที่วัดได้ทุกวัน