Last updated: 20 ต.ค. 2567 | 119 จำนวนผู้เข้าชม |
เมื่อเวลา 04.40 น. วันนี้ (20 ตุลาคม 2567) ที่บริเวณภายใน กฟผ.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง จังหวัดลำปาง ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง หอการค้าจังหวัดลำปาง สมาคมการค้าผู้จัดงานกีฬามวลชนไทย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ให้การต้องรับนักวิ่งน่องเหล็กจากทั่วประเทศสู่สนามการแข่งขันวิ่งเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แม่เมาะฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 31 (Mae Moh Half Marathon 2024) ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมี นางสาวนิติยา พงษ์พานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป้ฯประธานเปดงาน นายวิภู พิวัฒน์ รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า กฟผ. กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดการแข่งขัน โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรภาครัฐ เอกชน และประชาชนเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง
สำหรับการแข่งขันแม่เมาะฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 31 ในปีนี้ ได้มีการยกระดับการแข่งขันสู่งานวิ่งระดับโลก ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานสนามจากสหพันธ์กรีฑาโลก (World Athletics) ระดับ Road Race Label ในระยะฮาล์ฟมาราธอนเป็นแห่งแรกของภาคเหนือ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้จังหวัดลำปางเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในวงการ Sport Tourism อีกทั้งประชาชนได้ร่วมวิ่งเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี
การแข่งขันแม่เมาะฮาล์ฟมาราธอนในปีนี้มีนักวิ่งทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติทั่วประเทศเข้าร่วมการแข่งขันกว่า 2,400 คน ท่ามกลางบรรยากาศสุดอันซีนและเย็นสบาย เส้นทางวิ่ง นักวิ่งได้รื่นรมย์กับบรรยากาศสองข้างทางที่ได้เห็นทิวทัศน์ที่สวยงาม พาวิ่งลัดเลาะไปในเส้นทางใกล้ชิดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ แหล่งผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ อ่างเก็บน้ำห้วยเป็ด อ่างเก็บน้ำแม่ขาม นับเป็นการเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวเชิงกีฬามุมมองใหม่ อีกทั้งผลการแข่งขันจากสนามแม่เมาะฮาล์ฟมาราธอนระยะ 21.1 กิโลเมตร ยังสามารถใช้อ้างอิงเพื่อยื่นสมัครเข้าร่วมการแข่งในสนามระดับโลกอื่น ๆ ของ World Athletics ได้อีกด้วย
ตลอด 31 ปี ที่สนามวิ่งแม่เมาะฮาล์ฟมาราธอน ไม่ได้มีแค่เส้นชัย สถิติใหม่ แชมป์ใหม่เท่านั้น สนามแห่งนี้ยังเป็นสถานที่สร้างความสุขใจและสุขภาพกายที่ดีให้กับนักวิ่ง และยังช่วยยกระดับการท่องเที่ยวของจังหวัดลำปางด้วยกีฬา กระตุ้นเศรษฐกิจทั้งธุรกิจโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ผลิตภัณฑ์และร้านค้าชุมชน ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ที่หลากหลาย ส่วนรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายจะส่งมอบให้แก่กองทุนสงเคราะห์และพัฒนาจังหวัดลำปาง เพื่อเป็นทุนในกิจกรรมสาธารณประโยชน์และทุนการศึกษาแก่เยาวชนในจังหวัดลำปางต่อไป
ส่วนผลการแข่งขันวิ่งเฉลิมพระเกียรติฯ แม่เมาะฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 31 ประจำปี 2567 มีดังนี้
• รางวัลชนะเลิศฮาล์ฟมาราธอน 21.1 กิโลเมตร ประเภททั่วไป (Overall) ชาย ได้แก่ อนุชา พาดา สถิติ 1:14:04 ชั่วโมง ได้รับถ้วยสมัยแรก
• รางวัลชนะเลิศฮาล์ฟมาราธอน 21.1 กิโลเมตร ประเภททั่วไป (Overall) หญิง ได้แก่ ปารียา สนเส็ม สถิติ 1:27:17 ชั่วโมง ได้รับถ้วยสมัยที่2
• รางวัลชนะเลิศมินิมาราธอน 10 กิโลเมตร ประเภททั่วไป (Overall) ชาย ได้แก่ จาตุรนต์ เขื่อนแก้ว สถิติ 35.20 นาที
• รางวัลชนะเลิศมินิมาราธอน 10 กิโลเมตร ประเภททั่วไป (Overall) หญิง ได้แก่ อุมาพร ลองซอล สถิติ 44.20 นาที