มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ร่วม เอไอเอส ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” ตั้งเป้ายกระดับทักษะพลเมืองดิจิทัล สร้างภูมิคุ้มกันรู้เท่าทันภัยไซเบอร์

Last updated: 26 ส.ค. 2566  |  5673 จำนวนผู้เข้าชม  | 

มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ร่วม เอไอเอส ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” ตั้งเป้ายกระดับทักษะพลเมืองดิจิทัล สร้างภูมิคุ้มกันรู้เท่าทันภัยไซเบอร์


รศ.ดร.กิตติศักดิ์ สมุทธารักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง พร้อมด้วย ผศ.ปรีชา โพธิ์แพง ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับนายอาทยา หยู่เย็น หัวหน้างานปฏิบัติการภูมิภาค – ภาคเหนือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ดำเนินโครงการ การส่งเสริมการเรียนรู้หน้าที่พลเมืองดิจิทัล สำหรับครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา นักศึกษา และนักเรียน ภายใต้การกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ด้วยสื่อการเรียนรู้ดิจิทัลหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุมโอฬารฤทธิ์ ชั้น 10 อาคารโอฬาร โรจน์หิรัญ

การร่วมลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้หน้าที่พลเมืองดิจิทัลผ่าน “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” ยกระดับการศึกษายุคดิจิทัล เสริมสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ ตั้งเป้าสร้างพลเมืองแก่ครู อาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และนักเรียนในสังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เพื่อยกระดับดัชนีสุขภาวะดิจิทัล (Thailand Cyber Wellness Index) กลุ่มประชากรในพื้นที่จังหวัดลำปาง ให้อยู่ในระดับที่รู้เท่าทัน มีทักษะดิจิทัล สามารถใช้งานสื่อโซเชียลและเทคโนโลยีได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และเหมาะสม ผ่านการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสื่อการเรียนการสอน โดยเริ่มตั้งแต่ภาคการศึกษา 2566 เป็นต้นไป

นายอาทยา หยู่เย็น หัวหน้างานปฏิบัติการภูมิภาค – ภาคเหนือ AIS กล่าวว่า “นอกเหนือจากการมุ่งพัฒนาโครงข่ายการสื่อสารอัจฉริยะให้มีความพร้อมรองรับการใช้งานของลูกค้าและคนไทยแล้ว ภารกิจของ AIS ยังคงมุ่งดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยเป็นแกนกลางของสังคมในการสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาภัยไซเบอร์ ทั้งในมุมของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือ เพื่อช่วยให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย และในมุมของการสร้างภูมิปัญญา เพื่อส่งเสริมและสร้างทักษะดิจิทัลให้คนไทยรู้เท่าทัน พร้อมอยู่กับโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ จนนำมาสู่การพัฒนาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ซึ่งมีกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ร่วมกันออกแบบเนื้อหาให้เป็นไปตามมาตรฐานของหลักสูตรด้านการศึกษาไทย เพื่อเป็นสื่อกลางปลูกฝังและเสริมทักษะความฉลาดทางดิจิทัล ผ่าน 4 Professional Skill Module หรือ 4P4ป ที่ครอบคลุมทักษะ คือ 1. Practice ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม 2. Personality แนะนำการปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกอออนไลน์ 3. Protection เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์ และ 4. Participation รู้จักการปฏิสัมพันธ์ ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนโลกออนไลน์อย่างเหมาะสม โดยที่ผ่านมาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ เข้าถึงคนไทยไปแล้วกว่า 280,000 คน”

“วันนี้เรายังคงเดินหน้าขยายความร่วมมือเพื่อให้เนื้อหาเข้าถึงคนไทยในวงกว้างมากขึ้นโดยขยายความร่วมมือเสริมทักษะพลเมืองดิจิทัล ไปยังกลุ่มนักศึกษา มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผ่านกระบวนวิชาของคณะสื่อสารมวลชน , มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ และล่าสุดที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง โดยเราเชื่อว่าการทำงานร่วมกันอย่างสอดประสานร่วมกันจะช่วยทำให้ลดการเกิดปัญหาภัยไซเบอร์ สร้างทักษะทางดิจิทัล  ทั้งความสามารถในการเข้าใจ เข้าถึง และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์และปลอดภัย ได้อย่างแน่นอน”

สามารถเรียนรู้และสร้างทักษะทางดิจิทัลของทุกท่านได้ที่ https://learndiaunjaicyber.ais.co.th/ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้