Last updated: 1 ต.ค. 2563 | 1220 จำนวนผู้เข้าชม |
วันนี้พระครูจันทธรรมวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดเวียง หมู่ที่ 2 ต.ล้อมแรด อ.เถิน จ.ลำปาง นำไปดูเจดีย์หรือพระธาตุวัดเวียง ซึ่งอยู่ภายในบริเวณวัดที่เกิดการแตกร้าวอย่างหนักทั้ง 4 ด้าน พร้อมเปิดเผยว่าเมื่อประมาณหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ในพื้นที่ได้มีฝนตกลงมาอย่างหนัก ส่งผลทำให้ตัวขององค์พระธาตุซึ่งมีอายุเก่าแก่หลายร้อยปี ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยเดียวกับวัดพระธาตุลำปางหลวง ก่อสร้างโดยฝีมือช่างของชาวล้านนา พบว่าช่วงกลางของพระธาตุได้เริ่มมีการแตกร้าวเป็นแนวดิ่งทั้งสี่ด้าน โดยเฉพาะด้านทิศตะวันออกและทางทิศเหนือ ซึ่งมีรอยปริและแยกเป็นทางยาว ทางวัดจึงแก้ไขปัญหาเบื้องต้นด้วยการเฝ้าสังเกตุการณ์พร้อมทั้งนำเหล็กมาค้ำไว้และนำพลาสติกมาคลุมจุดที่แตกร้าวเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำฝนซึมเข้าไปในองค์พระธาตุ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเสียหายเพิ่มมากกว่านี้ โดยล่าสุดทางวัดได้ประสานไปยังสำนักศิลปากรที่ 7 จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อวางแผนบูรณะซ่อมแซมให้โดยเร็วต่อไป
สำหรับประวัติวัดเวียงมีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การก่อตั้งเมืองเถิน(อำเภอเถินปัจจุบัน) วัดเวียงถือว่าเป็นวัดหลวงกลางเมืองที่เจ้าเมืองอุปถัมภ์ดูแล มีตำนานกล่าวถึงการบรรจุพระธาตุเล็บมือของพระพุทธเจ้าในพระเจดีย์และการบูรณปฏิสังขรณ์วัดโดยครูบาอาทิตย์ ให้เป็นศาสนสถานศูนย์รวมจิตใจของชาวเมืองเถินในอดีตในปี พ.ศ. 1157เจ้าดาวแก้วไข่ฟ้า ซึ่งเป็นเจ้าเมืองเถินสมัยนั้นได้สร้างวิหารอุโบสถขึ้น โดยมีนางจำปาเทวีหรือนางจามเทวี พระสหายของเจ้าเมืองได้ช่วยกันก่อสร้าง ซึ่งตามตำนานเล่าว่า พระนางจามเทวี ได้ปลูกต้นขนุนขึ้นเพื่อเป็นหลักเมืองเรียกว่าขนุนนางจามเทวี มีจำนวน3 ต้น คือที่ปลูกไว้ ณ วัดพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ และ วัดพระธาตุลำปางหลวง และ วัดเวียง แห่งนี้