Last updated: 17 มิ.ย. 2563 | 1817 จำนวนผู้เข้าชม |
หลังจากมีการทุบทิ้งอาคารไม้เก่าแก่ของบริษัท บอมเบย์เบอร์มา อายุ 120 ปี บริเวณชุมชนเชตะวัน ริมแม่น้ำยม จังหวัดแพร่ ที่เคยใช้เป็นสำนักงานในการประกอบธุรกิจไม้ เป็นโครงการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารศูนย์เรียนรู้ป่าไม้สวนรุกขชาติเชตะวัน มูลค่า 4,560,000 บาท โดยบริษัทผู้รับเหมาในจังหวัดแพร่ ได้ถูกรื้อถอนทุบทำลายเหลือแต่ซากปรักหักพัง จนเกิดกระแสดราม่าขึ้น
วันนี้ที่จังหวัดลำปาง ชาวลำปางส่วนหนึ่งได้เริ่มมีกระแสดราม่าขึ้นเช่นกัน กรณี “บ้านหลุยส์” คฤหาสน์อายุกว่า 114 ปี ในจังหวัดลำปางที่เคยเป็นบ้านของนายห้างค้าไม้ชาวอังกฤษ นามว่า หลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์ ที่เคยทำงานร่วมกับบริษัท บอมเบย์เบอร์มา เรื่องการสัมปทานไม้ โดยอาคารดังกล่าวตั้งอยู่ในชุมชนท่ามะโอ ขณะนี้กำลังมีการปรับปรุงซ่อมแซม
โดยวันนี้ มีผู้ใช้เฟสบุ๊กว่า Akadet Nakkabunlung ได้ลงข้อความว่า “ ‘ ด่วน ‘ ฝากกลุ่มอนุรักษ์และผู้เกี่ยวข้องเข้าไปดูแล ก่อนที่จะสายเกินไป ‘สถานที่ทางประวัติศาสตร์ของเมืองลำปาง ‘ บ้านหลุยส์ลูกชายแหม่มแอนนา ลีโอโนเวนส์ ‘ ตั้งอยู่ในอุตสาหกรรมป่าไม้ ลำปาง
- อาทิตย์ก่อนไปเที่ยวลำปาง ได้เข้าไปดูบ้าน หลุยส์ ที่ ท่ามะโอ ตอนนี้กำลังมีการปรับปรุงซ่อมแซม ป้ายติดไว้ว่าได้งบมาประมาณ 3 ล้านบาท
ตัวบ้านใหญ่ปิด เลยไม่ได้เข้าไป ได้แต่เข้าไปดูแต่ตัวตึกเล็กด้านข้าง ตอนนี้หลังคากำลังรื้อกระเบื้องออก เอาคานเหล็กใส่แทนคานไม้เดิม ซึ่งความจริงป่าไม้น่าจะหาไม้มาทำแบบเดิมได้ไม่ยาก เขาทำการซ่อมโดยไม่เก็บของข้างในออกมารักษาก่อน ข้างในเห็นไม้ร่วงระเกะ ระกะ หล่นใส่ของดั้งเดิมต่างๆที่วางไว้ ช่วงนี้หน้าฝน ฝนตกลงมา ข้าวของคงจะเสียหายหมด มีทั้งตู้เซฟเก่ากลางห้อง มีอ่างอาบน้ำโบราณ ที่เห็นมีน้ำฝนขังอยู่ มีเครื่องมือการทำป่าไม้สมัย 100 กว่าปีวางอยู่ ทั้งเลื่อย สายวัด ของใช้ต่างๆ มีพัดลมผ้าแบบใช้คนดึงแขวนอยู่ น่าจะเก็บของเหล่านี้ออกมาทำทะเบียน ซ่อมแซมก่อน แล้วค่อยนำกลับเข้าไปจัดแสดงที่เดิมเมื่อซ่อมเสร็จ เกรงว่าของเหล่านี้จะถูกทิ้งและโล๊ะขายพ่อค้าของเก่าไป
ตัวบ้านและสิ่งของเหล่านี้มีเรื่องราว และคุณค่าทางประวัติศาสตร์น่าอนุรักษ์ไว้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และให้คนรุ่นหลังได้มาศึกษา ฝากผู้เกี่ยวข้องช่วยกันรีบเข้าไปดูแล แนะนำ ก่อนที่เสียหายไป แล้วเรียกกลับคืนมาไม่ได้” พร้อมรูปบ้านหลุยส์ที่มีการซ่อมแซม
หลังจากที่มีการโพสต์ ได้มีประชาชนได้เข้าไปแชร์มากกว่า200ครั้ง และ เริ่มมีคนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นในลักษณะไม่เห็นด้วย เพราะกลัวจะซ่อมแซมเหมือนจังหวัดแพร่ บางคนเสนอให้กรมศิลป์เข้ามาตรวจสอบ บางส่วนให้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดให้ยับยั้งการดำเนินการดังกล่าวเอาไว้ก่อน เป็นต้น
ในคอมเม้นหนึ่งซึ่งมีผู้ใช้ชื่อว่า Aou เอง ได้โพสต์ข้อความโดยอธิบายว่า
“ขออนุญาตตอบในนามของตัวแทนองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือบน องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ขอให้ข้อเท็จจริงดังนี้ บ้านหลุยส์ทีเลียวโนเวนส์ ได้ก่อสร้างขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 ในยุคที่ ชาวต่างประเทศเข้ามาทำสัมปทานไม้สักในเขตภาคเหนือ ต่อมา ได้ตกทอด เป็นทรัพย์สินขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ โดยมีที่ตั้งอยู่ในที่ดินราชพัสดุ ในความดูแลควบคุม ของกรมธนารักษ์ และถูกกำหนดให้เป็นบ้านที่มี ศิลปกรรมอัน ทรงคุณค่า ที่ต้องอนุรักษ์สงวนไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ต่อมาได้มีสภาพทรุดโทรมลงไป ตามกาลเวลา อีกทั้ง จังหวัดลำปางได้ กำหนดให้บริเวณชุมชนท่ามะโอ เป็นพื้นที่เมืองเก่า ชุมชนดั้งเดิม ที่มี ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ที่ต้องสงวนรักษาไว้ เพื่อดำรงศิลปะและวัฒนธรรม โดยได้เริ่มมีการก่อสร้างถนนสายวัฒนธรรมและต่อมาได้รับการร้องขอจากชาวชุมชน ที่ต้องการทำการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ว่าสมควรมีการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านหลุยส์ทีเลียวโนเวนส์ ให้อยู่ในสภาพสวยงามคู่กับชุมชน จังหวัดลำปาง จึงได้ มีดำริ ที่จะซ่อมแซมปรับปรุงคืนสภาพ และประสาน มายังองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เพื่อขอ เข้ามาทำการซ่อมแซม ทั้งนี้ ได้ผ่านความเห็นชอบ ของกรมธนารักษ์ และผ่านความเห็นชอบ ของชุมชนท่ามะโอ ที่อยู่โดยรอบบ้านหลุยส์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว กำหนด แหล่งงบประมาณในการซ่อมแซม ใช้งบจังหวัด การซ่อมแซมปรับปรุง และให้เป็นไปตามลักษณะสถาปัตยกรรมเดิม โดยในปี 2563 จังหวัดลำปางได้จัดสรรงบ และมอบหมายให้ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดลำปาง ดำเนินการหา ผู้รับจ้างมาจัดซ่อม ซี่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนปรับปรุงซ่อมแซม ซึ่งจะได้ติดตามการก่อสร้าง ให้เป็นไปตามรูปแบบสถาปัตยกรรมเดิม ทั้งนี้จังหวัดลำปาง องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กลุ่มอนุรักษ์ เมืองเก่าชุมชนท่ามะโอ และสำนักงานโยธาธิการผังเมืองจังหวัดลำปาง ได้ควบคุม ดูแล เอาใจใส่การซ่อมแซม ทุกขั้นตอนเพื่อ ปรับปรุงบ้านหลุยส์ทีเลียวโนเวนส์ให้อยู่ในสภาพที่ สมบูรณ์ดังเดิม และจะพร้อม เปิดให้เข้าชม ความสวยงามเพื่อย้อนรำลึกถึงอดีต ของจังหวัดลำปางในห้วงเวลาที่ผ่านมา ได้ในอนาคตอันใกล้นี้ค่ะ”
จากกระแสดังกล่าวซึ่งดูจะเริ่มบานปลาย ทางผู้สื่อข่าวจึงได้เข้าไปตรวจสอบที่บริเวณบ้านหลุยส์ ซึ่งในวันนี้ไม่มีคนงานเข้ามาทำงาน เนื่องจากฝนตก ซึ่งจากการตรวจสอบอาคารทั้งสองหลัง พบว่ามีการรื้อส่วนของหลังคาออกไปแล้วและกำลังอยู่ระหว่างการทำโครงการตัวหลังคาทั้งสองหลัง
ผู้สื่อข่าวได้เข้าไปสอบถามกับนายประทีป ประคองวงศ์ โยธาธิการและผังเมือง จังหวัดลำปาง ได้ระบุว่า การก่อสร้างดังกล่าวก็เกิดจากความต้องการของชุมชน ของคนที่ต้องการอนุรักษ์เมืองเก่า ก่อนจะทำได้มีการออกแบบดูแบบกันมาตลอด เราไม่ได้มาเปลี่ยนแปลงอะไรแค่มาเสริมโครงกสร้างให้แข็งแรงขึ้น อันไหนผุใช้งานไม่ได้ก็เปลี่ยนให้ รูปทรงอื่นๆเหมือนเดิมทั้งหมดไม่เปลี่ยนแปลง มีเพียงหลังคาของอาคารหลังใหญ่ เคยมีการเปลี่ยนมาแล้วเพราะเป็นลอนคู่ก็เลยจะเป็นเป็นกระเบื้องว่าวSCG รูปทรงโบราณ สวย ฝ้าเพดานแตก ฝนตกก้เข้าภายในอาคารหมด วันนี้ เจ้าหน้าที่ สำนักศิลปากรที่ 7 น่าน กรมศิลปากร ได้เข้ามาขอข้อมูลเกี่ยวกับการซ่อมแซมอาคารดังกล่าวเช่นกัน เพื่อนำไปเสนอผู้บังคับบัญชา เพื่อดูว่าอาคารดังกล่าวจะสามารถขอขึ้นทะเบียนได้หรือไม่ ส่วนการปรับปรุงซ่อมแซม ตามที่ชาวลำปางและผู้อนุรักษ์แสดงความเป็นห่วงนั้น ตนเองขอชี้แจงว่าขออย่าได้วิตกกังวลเพราะการปรับปรุงที่กำลังดำเนินการนั้นจะไม่มีการทุบทิ้งเหมือนจังหวัดแพร่ แน่นอน
ขณะที่นายศักดิ์ชัย กิจเจริญ สถาปนิกปฏิบัติการสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดลำปาง ได้นำแบบแปลนการซ่อมแซมปรับปรุงอาคารทั้งสองหลังมาให้ผู้สื่อข่าวดู พร้อมกับนำภาพถ่ายก่อนที่จะเข้าทำการปรับปรุงมาให้ดูสภาพความทรุดโทรม พร้อมระบุว่ารูปทรงยังเป็นแบบเดิมทั้งหมด มีการเปลี่ยนบางอย่างเช่นภายนอกที่เคยเป็นไม้ก็ยังคงเป็นไม้เช่นเดิม ส่วนโครงการภายในหลังคาที่เสียหายผุพังก็จะเป็นโครงการเหล็กเพื่อความแข็งแรง เนื่องจากอาคารดังกล่าวก่อสร้างแบบวัดคือไม่มีฐานราก เมื่อก่อนหน้านี้น้ำท่วมทำให้ดินยุบตัวอาคารจึงเสียศุนยืคือมีการเอียงไปตามสภาพพื้นดิน ส่วนไหนที่เสียหายและดูแล้วจะเป็นอันตรายก็ไปเสริมความแข็งแรงเพื่อความปลอดภัยและยึดอายุการใช้งานให้ยาวนานขึ้น
ทางผู้ก่อสร้างยังคงยึดโครงการเดิมที่ยังแข็งแรงไว้ทั้งหมด ส่วนที่ใช้ไม่ได้และเสี่ยงอันตรายก็ต้องเอาออก แต่ก็จะทำให้เหมือนของเดิมมากที่สุด บางส่วนเช่นเสาก็ต้องตัดส่วนที่ปลวกกินออกแล้วต่อเสาใหม่เพื่อยึดให้แข็งแรงและทำให้คล้ายเสาเดิมมากที่สุด บางส่วนก็ต้องเสริมเสาไม้เข้าไปเพื่อรับน้ำหนัก หลังคากระเบื้องลอนคู่ เก่าแตกก็ต้องเปลี่ยน คานเดิมเป็นไม้แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ไม้สักปลวกกินเกือบหมดก็ต้องเปลี่ยนใช้โครงการเหล็กแทนแต่ก็จะต้องปิดเพดานด้วยไม้เช่นเดิม ส่วนอาคารหลังเล็ก เดิมหลังคาเป็นสังกะสีรั่วเพดานผุหล่นลงมาบางส่วน โครงการภายในเสียหายเยอะมาก ก็ต้องเปลี่ยน ส่วนที่เห็นสิ่งของบางอย่างที่อยู่ในอาคาร คือไม่ใช่สิ่งของที่สำคัญมาก เพราะส่วนที่สำคัญทาง อ.อ.ป.ได้นำเก็บไว้อีที่หนึ่งแล้ว ส่วนที่เห็นตู้เก็บของหรือสิ่งของที่เป็นไม้ ของเหล่านี้ไม่มีเสียหายเพิ่มเติมแล้ว อ่างอาบน้ำหรือสิ่งที่เป็นเห,้กต่างๆในอาคารไม่สามาถยกออกมาได้ แต่ก้แจ้งให้ช่างได้เพิ่มความระมัดระวัง