Last updated: 22 ก.พ. 2563 | 802 จำนวนผู้เข้าชม |
วันนี้( 22 กุมภาพันธ์ 2563) ที่หอประชุมวิทยาลัยเทคโนโลยี และการจัดการ กฟผ.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง นายสุรพล บุรินทราพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานในการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 (ค.3) โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8 - 9 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง โดยมี นางศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ และความสำคัญของโครงการ โดยมีประชาชน ผู้นำชุมชน และท้องถิ่น รวมถึงส่วนราชการ ให้ความสนใจเข้าร่วมกันอย่างคึกคักกว่า 2,200 คน และมีผู้ที่แสดงความจำนง แสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะกว่า 40 คน
โดยบรรยากาศก่อนเริ่มงาน ก็มีประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในโครงการดังกล่าว โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.แม่เมาะ ให้ความสนใจเดินทางมายังหอประชุมกันตั้งแต่เช้า โดยสถานที่มีการกำหนดให้จอดรถไว้ตามจุดต่างๆ เพื่อรักษาความปลอดภัย และความเรียบร้อย โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และพนักงานรักษาความปลอดภัยดูแลพื้นที่อย่างเต็มกำลัง ตั้งแต่ประตูทางเข้า จากนั้นจะมีรถบัสพลังงานไฟฟ้า และรถรางวิ่งมารับตามเส้นทางที่ประชาชนนำรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ไปจอดตามจุด แล้วพาเข้ามายังหอประชุม และก่อนที่ประชาชนจะเข้าเขตหอประชุม ต้องเดินผ่านจุดตรวจสแกน ตรวจกระเป๋าสัมภาระ เพื่อป้องกันการนำอาวุธ หรือวัตถุอันตราย อาทิ สารพิษ สารเคมี วัตถุระเบิด ไฟแช็ค ไม้ขีดไฟ และวัตถุที่ทำให้เกิดเสียงดัง เข้าไปภายในหอประชุม ซึ่งเป็นการรักษาความปลอดภัยระดับเข้มงวด โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ชุด EOD และ ทหาร คอยดูแล
นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และโรงพยาบาล ใช้เทอร์โมสแกนวัดไข้ที่หน้าผากวัดอุณหภูมิร่างกาย เพื่อเป็นการป้องกันโรคไวรัสโควิท – 19 หรือไข้หวัดชนิดอื่นๆ ด้วย และหากพบคนมีไข้สูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ก็จะงดไม่ให้เข้าไปในหอประชุม เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อในหอประชุม เนื่องจากมีผู้คนเข้ามาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีการประกาศ ว่า ประชาชนที่มีอาการไข้ น้ำมูกใส ไอ จาม เจ็บคอ มีเสมหะ หายใจหอบเหนื่อย หรือเดินทางมาจากประเทศจีน ขอให้งดเข้าร่วมประชุม
นางศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 - 9 ซึ่งมีอายุการใช้งานครบ 30 ปี แล้ว และกำหนดปลดออกจากระบบในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ดังนั้น ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 หรือ PDP 2018 จึงกำหนดให้ กฟผ. ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8 - 9 มีกำลังการผลิตติดตั้ง 660 เมกะวัตต์ จำนวน 1 เครื่อง เพื่อรักษาระดับกำลังผลิต และความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ โดยโรงไฟฟ้าทดแทนเครื่องดังกล่าวใช้ถ่านหินลิกไนต์จากเหมืองแม่เมาะเป็นเชื้อเพลิง มีกำหนดผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2569 นี้
ดร.เบญจภรณ์ บุณยพุกกณะ ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท ทีแอลที คอนซัลแตนส์ จำกัด บริษัทที่ปรึกษาฯ กล่าวว่า การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งที่ 3 นี้ เพื่อนำเสนอผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโครงการ ทั้งด้านผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น มาตรการป้องกันและแก้ไข รวมถึงมาตรการติดตามตรวจสอบ ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนในพื้นที่ 5 ตำบลของ อ.แม่เมาะ ได้แก่ พื้นที่ ต.สบป้าด ต.จางเหนือ ต.นาสัก ต.บ้านดง และ ต.แม่เมาะ รวมถึงส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น องค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน ประชาชนทั่วไป ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น และ เสนอแนะในการพัฒนาโครงการให้ครอบคลุมครบถ้วน เพิ่มเติมจากการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในการกำหนดขอบเขต และแนวทางการประเมิน EHIA ในครั้งที่ผ่านมา
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8 – 9 ได้เริ่มมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 เมื่อวันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม 2562 มีผู้เข้าร่วมประชุมรวม 2,647 คน และการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ในขั้นตอนการประเมินและจัดทำรายงาน EHIA ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 8 – 10 ตุลาคม 2562 ดำเนินการทั้งหมด 6 เวที มีผู้เข้าร่วมประชุมรวม 1,781 คน ซึ่งเมื่อเวทีรับฟังฯ ครั้งที่ 3 แล้วเสร็จ บริษัทที่ปรึกษาจะรวบรวมข้อคิดเห็นที่ได้ทั้งหมด มาพิจารณาตามหลักวิชาการเพิ่มเติมให้ครอบคลุมข้อห่วงกังวลของประชาชนเพื่อนำไปจัดทำรายงาน EHIA ฉบับสมบูรณ์ ก่อนนำส่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อพิจารณาต่อไป